ปั้นหลักสูตรสอน "ทวิตเตอร์" เกาะกระแสเครือข่ายสังคมบูม


เพราะเทรนของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มาแรง (อย่างมาก) ในปัจจุบัน ด้วยคอนเซ็ปต์การพูดคุยและแชร์ สิ่งต่าง ๆ ผ่านโลกออนไลน์ ทำให้ ณ เวลานี้กูรูแห่งวงการอินเทอร์เน็ต นักการตลาด และเอเยนซี่สื่อทั้งหลายต่างฟันธงว่า ขุมทรัพย์ออนไลน์กลุ่มนี้จะเป็นเครื่องมือทางการตลาดชิ้นใหม่สุดฮิตในโลกอนาคต

เพราะองค์กรธุรกิจต่างเกาะกระแสทำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาร์เก็ตติ้งกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นแสนสิริ ดั๊บเบิ้ล เอ กสิกรไทย เดลล์ เป็นต้น


มีการประมาณคร่าว ๆ ว่า จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยประมาณ 1.2 ล้านราย ขณะที่ทวิตเตอร์ประมาณหลักแสนราย โดยกลุ่มที่เล่นคือ ชาย-หญิง อายุ 18-30 ปี จึงกลายเป็นตลาดก้อนใหญ่ที่บรรดาองค์กรต่าง ๆ กระโดดเข้ามาหวังเจาะตลาดโดยอาศัยเครื่องมือสังคมออนไลน์รายใหญ่ทั้ง 2 แห่งเป็นสะพานเชื่อม

เพราะคุณสมบัติเด่นของทวิตเตอร์คือการโต้ตอบแบบเรียลไทม์แบบรายชั่วโมง ขณะที่เว็บไซต์อื่น ๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะได้รับฟีดแบ็ก ทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถแก้ปัญหาหรือรับฟีดแบ็กลูกค้าได้แบบทันท่วงที

"ธันยวัชร์ ไชยตระกูล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีม ไทเกอร์ จำกัด มี มุมมองที่น่าสนใจว่า การทำตลาดผ่าน ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กเหมาะสำหรับทุกธุรกิจไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก แต่สิ่งสำคัญคือ ควรทำควบคู่กันเสมือนเป็น "รักยม" บนเครือข่ายสังคม เพราะทั้งสองเครือข่ายนี้มีความแตกต่างกัน

"เฟซบุ๊ก" เน้นอารมณ์เป็นหลัก เช่น โหลดรูปและคนที่อยู่ในเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นคนที่เรารู้จัก มีตัวตน และภายใน เครือข่ายจะมีการแบ่งแยกกลุ่มย่อย ๆ อย่างชัดเจน ทำให้สามารถทำตลาดได้ เช่น เอไอเอส มีการตั้งกลุ่ม "บีบี"(แบล็คเบอร์รี่) ในเฟซบุ๊ก ปัจจุบันมีเพื่อนจำนวนกว่า 3,000 คน ทำให้สามารถ "ขาย" หรือทำการตลาดกับฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้ชัดเจน

ส่วนเอกลักษณ์ของ "ทวิตเตอร์" คือเข้าถึงง่าย ใครก็ตามสามารถเป็นผู้ติดตามได้ ทำให้ความน่าเชื่อถือหรือความไว้วางใจต่ำเมื่อเทียบกับเฟซบุ๊ก ส่งผลให้ทำตลาดได้ยากกว่า

และหากต้องการทำการตลาดผ่านทวิตเตอร์ต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้เกิดความง่ายในการแชร์ข้อมูลข่าวสาร จากนั้นทุกคนที่เป็นผู้ติดตามก็จะกลายเป็นเพื่อนเรา และนำไปสู่การทำตลาดแบบไวรัลมาร์เก็ตติ้งได้

เคล็ดลับของทวิตเตอร์ คือ "ห้ามฮาร์ดเซลเด็ดขาด" แต่ใช้ทวิตเตอร์เพื่อบอกข่าวสารต่าง ๆ และเป็นประตูเชื่อมไปสู่เฟซบุ๊ก, บล็อกและเว็บไซต์ของเราได้ธันยวัชร์ กล่าวว่า "ไม่มีแบรนด์ไหนประสบความสำเร็จจากการใช้ทวิตเตอร์เพียงอย่างเดียว ต้องใช้ควบคู่กับเฟซบุ๊ก"

แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกโดยผ่านเครือข่ายสังคมทั้ง 2 แห่ง คือ สตาร์บัคส์

เพราะด้วยความที่เป็นแบรนด์ที่ใช้อีโมชั่น และไม่เน้นสื่อแมสมากนักทำให้สตาร์บัคส์ประสบความสำเร็จในการทำตลาดบนโลกออนไลน์

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กได้รับความนิยม เพราะเทรนด์ในปัจจุบันคอนซูเมอร์จะคุยกันเอง ไม่คุยกับบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าเพราะองค์กรส่วนใหญ่นิยมการสื่อสารเชิงประชาสัมพันธ์ ยิ่งองค์กรใดชอบการโปรโมตสินค้าแบบตรง ๆ ผู้ติดตามมักจะไม่ชอบ ทำให้การพูดคุยผ่านเครือข่ายสังคมได้รับความนิยม

"อดีตคนไปตลาดจะเจอกันพูดคุยเลือกซื้อสินค้า แต่ปัจจุบันโลกใบใหญ่ขึ้น คนเยอะขึ้นและเริ่มมีการประชาสัมพันธ์เข้ามาสกัดกั้นการพูดคุย บริษัทส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาด้วยการทุ่มงบฯเพื่อโปรโมตสินค้า แต่สุดท้ายคนก็เข้ามาด่าวิจารณ์สินค้ากันในเว็บ ซึ่งถ้าหากองค์กรต่าง ๆ ไม่เข้ามาตรวจสอบเพื่อรับฟังคอนซูเมอร์ก็จะมีปัญหา แต่หากเรารีวิวสิ่งที่คอนซูเมอร์พูดอยู่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วนำปัญหามาปรับปรุงจะเป็นผลดีต่อองค์กร"

ปัจจุบันจึงเห็นองค์กรหลายแห่งต่างมีกระบวนการตรวจสอบโดยอาศัยทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือเพื่อดูคอมเมนต์ของ คอนซูเมอร์ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการต่าง ๆ จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขตอบสนองความต้องการของลูกค้า

"ชีพธรรม คำวิเศษณ์" ผู้ก่อตั้ง thaiventure.com กล่าวว่า จากกระแสความแรงของทวิตเตอร์ทำให้ตอนนี้ตนได้เปิดคอร์สสอนการใช้ทวิตเตอร์เพื่อการทำธุรกิจเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามี ผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 2 รุ่น จำนวนกว่า 100 ราย มีทั้งลูกค้าทั่วไปและองค์กรธุรกิจ ทั้งโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งอย่างแบงก์กสิกรไทย แบงก์กรุงเทพก็มาเรียน

เพราะตอนนี้ทวิตเตอร์กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมถึงสามารถนำมาใช้เสริมทัพทางธุรกิจเพื่อเข้าถึงลูกค้าโดยตรงได้ โดยสิ่งที่สอนคือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทวิตเตอร์ เทคนิค เช่น ทำอย่างไรให้มีคนเข้ามาเป็นผู้ติดตามมากขึ้น รวมถึงกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจ เช่น ต้องมีลิงก์ติดไว้ที่หน้าทวิตเตอร์ของตนเพื่อให้ผู้ติดตามที่เข้ามาสามารถคลิกเชื่อมไปสู่หน้าเว็บไซต์ธุรกิจของตนจนนำไปสู่การปิดการขายในที่สุดได้

อย่างไรก็ตาม หากจะทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคมให้ได้ผลต้องทำควบคู่กันทั้ง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อจะได้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายและนำมาใช้บริการลูกค้าได้ ซึ่งนอกจากสอนหลักสูตรทวิตเตอร์แล้ว บริษัทยังมีคอร์สสอนเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ กูเกิล และการประมูลสินค้าผ่านอีเบย์ด้วย

ฟาก "พาที สารสิน" ซีอีโอจากนกแอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 2,000 ราย ให้มุมมองต่อผู้ประกอบการที่ต้องการทำการตลาดผ่านทวิตเตอร์ ว่า ทวิตเตอร์มีลักษณะความเป็นตัวบุคคลสูง

ดังนั้น "ไม่จำเป็นที่ต้องใช้ทวิตเตอร์ในการทำตลาดเสมอไป แต่ทวิตเตอร์จะช่วยเสริมภาพให้กับองค์กรได้ เพราะหากเป็นองค์กรมาเล่นทวิตเตอร์ต่างกับคอนซูเมอร์ ดังนั้นการที่องค์กรใช้ทวิตเตอร์ติดตามผู้อื่นเพื่อที่ว่าจะได้เข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร และสร้างความไว้ใจกับลูกค้าก่อน จากนั้นค่อยนำสิ่งที่ได้กลับมาดีไซน์สิ่งที่ลูกค้าต้องการ"

บรรดากูรูยังได้ทิ้งท้ายด้วยว่า กลเม็ดวิธีเพิ่มผู้ติดตามคือ ออกสื่อต่าง ๆ เพื่อโปรโมตทวิตเตอร์ของตน เรื่องที่ทวิตเตอร์ควรจะมีประโยชน์ เช่น แนวคิด ทฤษฎี คำพูดต่าง ๆ ที่สามารถส่งต่อกันได้ เพราะยิ่งข้อความถูกส่งต่อมากไปเท่าไร ชื่อ ทวิตเตอร์ของเราจะปรากฏออกไปมากเท่านั้น และผู้ติดตามเราจะมากขึ้น

สิ่งสำคัญคือ ต้องใส่รูป ชื่อ นามสกุลจริง และประวัติ เพื่อให้คนที่ติดตามรู้ตัวตนที่แท้จริง และสร้างความน่าเชื่อถือ




ที่มา : http://www.wiseknow.com

0 ความคิดเห็น สำหรับ "ปั้นหลักสูตรสอน "ทวิตเตอร์" เกาะกระแสเครือข่ายสังคมบูม"

ร่วมแสดงความคิดเห็น

Daily Video

2010 BlogNews Magazine. All Rights Reserved. - Designed by SimplexDesign