Google เปิดตัวบริการ Music Search


ในวงการตลาดโลกยุคนี้ แบรนด์หนึ่งที่ได้รับการยอมรับให้เป็นไอดอล (idol) ของการประกอบการที่มีความพยายามในการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจอยู่ตลอดเวลา และไม่ยอมปล่อยให้โอกาสทางธุรกิจหลุดลอยไปแม้แต่เรื่องเดียวก็คือ กูเกิล (Google) ล่าสุดของการเปิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ของกูเกิล คือบริการ Music Search


                   แม้ว่าลำพังการดำเนินงานและทรัพยากรที่มีอยู่ของกูเกิลจะมีข้อจำกัด หรือธุรกิจนั้นอาจจะยังใหม่ที่ขาดความชำนาญและทักษะ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้กูเกิลกล้ารุกตลาดเพลงก็คงมาจากความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของพันธมิตรที่ตนดึงมาร่วมงานด้วย
  
                   ในการเปิดงานบริการมิวสิกเสิร์ชของกูเกิล มีการทำความตกลงและร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจถึง 2 รายคือ รายแรกเป็นเว็บเซอร์วิสชั้นนำชื่อ ลาล่า (LaLa) รายที่สองคือ iLike ของค่ายโซเชียล  มีเดีย  มายสเปซ (MySpace) ที่มีแฟนคลับเป็นนักนิยมฟังเพลงอยู่แล้ว
  
                   การจับมือกับพันธมิตรทั้งสองรายนี้ ทำให้เกิดเครือข่ายที่ใช้ช่องทางของกูเกิลช่วยให้แฟนนักฟังเพลงสามารถค้นหาเพลงได้ง่าย ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและไม่เบื่อหน่ายกับวิธีการซื้อหาเพลงจากช่องทางบนโลกอินเทอร์เน็ต  เป็นการช่วยในการขยายปริมาณธุรกิจของบรรดาค่ายเพลงต่างๆ อีกช่องทางหนึ่ง
  
                   บริการของกูเกิลในสหรัฐฯ เป็นตลาดแรกครั้งนี้ประกอบด้วย ประการแรก บริการให้ลูกค้าทดลองฟังเพลงที่น่าสนใจก่อนซื้อ โดยมีความยาวของการฟังเพลงไม่ต่ำกว่า 30 วินาทีขึ้นไป และในบางกรณีก็เปิดให้มีการฟังเพลงตัวอย่างได้ตลอดทั้งเพลงอีกด้วย
  
                   ประการที่สอง บริการเชื่อมโยงเพลงที่มีการทดลองฟังแล้วพอใจกับส่วนที่เป็นการชำระเงินเพื่อซื้อเพลงทางอินเทอร์เน็ต
  
                   ประการที่สาม  นอกเหนือจาก LaLa และ iLike แล้ว  กูเกิลยังได้จับมือกับผู้ให้บริการเพลงรายอื่น  ได้แก่  แพนโดร่า  และ iMeem  รวมทั้ง Phapsody  ในการสร้างการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์เพลง  เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถค้นพบเพลงได้อย่างรวดเร็วทันใจ
  
                   ความสนใจของกูเกิลในธุรกิจเพลง  ก็เพราะว่าในท่ามกลางกระแสการตกต่ำทางธุรกิจของผู้ประกอบการประเภทต่างๆ  กูเกิลพบว่าบริการเพลงผ่าน iTune ของแอปเปิลและเว็บไซต์อื่นๆ ยังคงไปได้สวยและเติบโตอย่างต่อเนื่อง       
  
                   การให้บริการมิวสิกเสิร์ชของกูเกิลจึงเป็นทางหนึ่งในการหารายได้แหล่งใหม่  มาชดเชยรายได้เดิมที่ลดลง  และ ยังเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการเรียกคืนลูกค้ากลับเข้าสู่ฐานลูกค้าที่ พร่องลงไป ทั้งนี้เพราะแต่ละวันจะมีผู้คนทั่วโลกนับล้านๆ คนที่เข้าไปทำกิจการในการค้นหาเพลงทางออนไลน์  เพื่อศึกษาชีวิตและข่าวคราวของศิลปินที่ชอบ  เพื่อค้นหาอัลบัมเพลงออกใหม่  และเพลงเก่าสุดโปรด
  
                   ด้วยศักยภาพของมิวสิกเสิร์ชของกูเกิลที่ได้ออกให้บริการแก่แฟนคลับเพลงครั้งนี้  จะช่วยให้นักฟังเพลงได้รับความสะดวกไม่ต่างจากการค้นหาข้อมูลผ่านคำหลักในเสิร์ชเอ็นจิ้นปัจจุบันของกูเกิล
  
                   ที่จริงไม่ใช่เฉพาะกูเกิลเท่านั้นที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจเพลงที่ว่านี้  เพราะเมื่อไม่นานมานี้  สื่อสังคมออนไลน์อีกรายคือ Facebook  ก็ได้ประกาศขยายบริการด้านเพลงผ่านการทำความตกลงและร่วมมือกับ LaLa เหมือนกัน
  
                   ก่อนที่จะมีการให้บริการนี้  กูเกิลเองก็มีวิดีโอไซต์ของตนเองอย่าง Youtube  ที่เป็นช่องทางสู่วงการเพลงอยู่แล้ว  แต่ Youtube มีการบริหารจัดการที่แยกออกไปต่างหาก  ด้วยการไปจับมือกับ Vivendi ผ่าน  ยูนิเวอร์แซล  มิวสิค  กรุ๊ป  และโซนี่ มิวสิค  เพื่อสร้าง 'Vevo'  เป็นบริการด้านมิวสิกวิดีโอ  โดยคาดว่าการให้บริการอย่างเป็นทางการน่าจะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป
  
                   มูลค่าเพิ่มที่เกิดกับกูเกิลจากการจับมือกับ LaLa ก็คือ บริการด้านเพลงของ LaLa ที่มีอยู่แล้ว ได้เปิดให้ลูกค้าเข้าไปดึงเพลงออกมาจากแค็ตตาล็อกที่มีเพลงถึง 8.5 ล้านเพลงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อทดลองฟังและเลือกสรร   ก่อนที่จะทำการซื้อเพลงในราคาแทร็กละ 10 เซ็นต์  ส่วนกรณี MP3 ก็ขายในราคาเริ่มต้นเพียง 89 เซ็นต์เท่านั้น
  
                   การจับมือกับกูเกิลจึงเป็นผลดีที่จะทำให้ LaLa  มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจการจำหน่ายเพลงผ่านการเชื่อมโยงกับมิวสิกเสิร์ชของกูเกิลเพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่ 100% หากแต่เป็น 1,000% ทีเดียว  เพราะลูกค้าของ LaLa  ในปัจจุบันมีอยู่เพียง 100,000 ราย  และในจำนวนนี้มีกิจกรรมกับ LaLa แบบบ่อยๆ ครั้งเพียง 60,000 รายเท่านั้น  หรือเท่ากับ LaLa  ทำรายได้จากลูกค้าแต่ละรายเพียง 67 ดอลลาร์ต่อปี  จึงมีระดับรายได้รวมกันทั้งปีไม่ถึง 10 ล้านดอลลาร์
  
                   แต่ถ้ามิวสิกเสิร์ชที่จับมือกับกูเกิล หรือ Facebook ได้ผล  ขนาดของธุรกิจของ LaLa  ก็คงจะเพิ่มขึ้นมากมาย  จนอาจจะทำให้ LaLa  กลายเป็นกิจการค้าปลีกรายใหญ่รายใหม่ของโลกออนไลน์ก็ได้  เพราะคู่ค้าแต่ละรายยังคงเก็บรายได้ของตนเองไว้ไม่ได้นำมาแบ่งปันในความตกลงนี้แต่อย่างใด
  
                   ในส่วนของกูเกิลนั้น  จากการรวบรวมสถิติก็พบว่า 6% ของกูเกิล Top 1,000 search เป็นการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเพลง  และ 90% ของการเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์เป็นคำว่า 'music' อยู่แล้ว
  
                   การเริ่มธุรกิจใหม่ด้านมิวสิกเสิร์ชของกูเกิลที่ประกาศตัวใหญ่โตครั้งนี้  ไม่ได้สร้างพันธมิตรอย่างเดียวเท่านั้น  หากแต่ยังอาจจะสร้างคู่แข่งรายใหม่ด้วย เพราะหลังจากการประกาศข่าวของกูเกิลได้ไม่นาน  ยาฮูก็ประกาศว่าจะเปิดบล็อกที่จะนำเสนอบริการมิวสิกเสิร์ชในลักษณะเดียวกันอีกไม่นานนี้

0 ความคิดเห็น สำหรับ "Google เปิดตัวบริการ Music Search"

ร่วมแสดงความคิดเห็น

Daily Video

2010 BlogNews Magazine. All Rights Reserved. - Designed by SimplexDesign