บารากุ ความหอมหวลเปื้อนยาพิษจริงหรือ ?




ไม่ได้อัพบล็อคมาหลายวัน เพราะไม่ค่อยจะมีเวลาอยู่หน้าคอมเลย วันก่อนเพื่อนที่ทำงานพูดถึงเรื่องบารากุขึ้นมา เลยทำให้ระลึกถึงความหลังเมื่อสมัยครั้งทำร้านเหล้าอยู่ที่ ม. กรุงเทพ รังสิต (C•E•O™ Club ทุกวันนี้ก็ยังเปิดอยู่) ตอนนั้นที่ร้านมีขายบารากุด้วย ทำเอง ขายเอง ดูดเองทุกวัน ชิลลลลลลลลลลลลล์ :-P

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก "บารากุ" (โคตรเชยเลยวะ คุณ!!) ขอเล่าย่อๆละกันว่าบารากุหรืออีกชื่อนึงว่า "ชิช่า" และชื่ออื่นๆอีกตามแต่ละประเทศจะเรียก แต่เอาเป็นว่าเมืองไทยนิยมเรียกมันว่า "บารากุ" หรือ "ชิช่า" แค่นั้นแหละ!! บารากุเป็นยาสูบชนิดหนึ่ง สารที่นํามาใช้ทำยานี้ ไม่จําเป็นต้องแห้งสนิท ที่มักใช้กันมีชื่อเรียกว่า โทบาเมล หรือ มาแอสเซล ในไทยรู้จักกันในชื่อว่า บารากุ เป็นส่วนผสมของใบยาสูบ กับสารที่มีความหวานเช่น น้ำผึ้ง หรือกากน้ำตาล (molasses) หรือผลไม้ตากแห้ง อาทิ แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ มะม่วง เมล็ดกาแฟ วานิลลา เชอร์รี่ องุ่น มะนาว มินต์ แม้กระทั่ง กุหลาบ หมากฝรั่งหรือสมุนไพรบางชนิด


นํามาใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้เสพที่มีชื่อเรียกว่า ฮุกคา (hookah) แต่คนไทยเรียกเตาบารากุ เป็นภาชนะโลหะทรงสูงปากแคบ เสียบภาชนะดินเผาสำหรับใส่ตัวยาบารากุลงไปเรียกว่า มาแอสเซล (MU'ASSEL) แต่คนไทยเรียกว่า "โจ๋" แล้่วห่อด้วยฟอยล์ที่ใช้อบไก่นีแ่หละ แล้ววางถ่านวิทยาศาสตร์ไว้ข้างบนเพื่อให้ความร้อน (ร้านไหนงกหน่อย มันจะใช้ถ่านหุงข้าวธรรมดาๆเลย) ด้านล่างเป็นโถแก้วสวยงามสำหรับใส่น้ำ เมื่อถ่านทำความร้อนกับยาสูบจะทำให้เกิดควัน และส่งผ่านควันออกมายังน้ำเพื่อกรองฝุ่นขี้เถ้าและลดความร้อน และมีสายยางต่อออกมาเพื่อดูดควันอีกที ปกติจะมีสายต่อแค่สายเดียว แต่ถ้าเป็น hookah ขนาดใหญ่จะสามาถต่อสายยางได้ถึง 4 สาย (ดูดพร้อมกัน มันดี)

การสูบบารากู่เป็นวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลางมานานแล้ว พบได้ในร้านอาหาร ภัตตาคารทั่วไป ใช้สูบหลังอาหารแทนบุหรี่ บางแห่งสูบกันในแหล่งที่ใช้เป็นที่สังสรรค์ ดูรายการยอดนิยม หรือดูกีฬาระดับชาติร่วมกัน ปัจจุบันแพร่หลายในแถบโลกตะวันตกด้วย

บารากุเริ่มเข้ามาแพร่หลายในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ผมไม่รู้ แต่ผมลองดูดครั้งแรกแถวๆนานา ตั้งแต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนได้ละมั๊ง โดยจะไม่จำกัดเวลาในการดูดจนกว่าตัวยาจะหมด ซึ่งอยู่ประมาณ 45-60 นาที แล้วหลังจากนั้น 3-4 ปีต่อมา ผมก็พบว่าเราสามารถหาบารากุดูดได้ตามผับบางแห่งซึ่งเป็นสถานที่รวมของวัยรุ่นทั้งหลาย สนนราคาก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดและคุณภาพของยา ความสวยงามหรูหราของ hookah รวมทั้งสถานที่ตั้งของสถานที่ที่จำหน่ายบารากุด้วย เริ่มตั้งแต่ 150-500 บาท (ที่ถูกสุดที่ผมพบคือ 150 บาทแถวตะวันนาแสควร์ แต่คุณภาพห่วยมาก และที่แพงสุดคือ Scratch Dog สุขุมวิท 20 แพงด้วย ห่วยด้วย แถมจำกัดเวลาดูดแค่ 30นาที!!) ส่วนที่ C•E•O™ Club ขาย 250 บาท ดูดได้เรื่อยๆ และรับรองว่ายาคุณภาพดีมากๆๆ รวมถึงเทคนิคในการผสมตัวยาและการห่ออันยอดเยี่ยมที่ผมคิดขึ้นมา ถ้าได้ลองซักครั้ง คุณจะลืมบารากุที่อื่นไปเลยจริงๆ (โฆษณาแอบแฝง ฮ่าๆๆ)


การที่บารากุเริ่มเข้ามาแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นน่าจะเริ่มจากการที่ตัวยามีรสหวาน ดูดง่าย ทำให้วัยรุ่นที่ไม่ดูดบุหรี่ก็สามารถดูดบารากุได้ เพราะคิดว่าไม่มีอันตรายเพราะไม่มีกลิ่นเหม็น และสามารถดูดในที่สาธารณะได้ ไม่เหมือนกับบุหรี่ แต่ถ้าดูดไปซักพักก็อาจจะเกิดอาการมึนเล็กน้อย (แต่จริงๆผมว่ามันขึ้นกับตัวยาและการดูดด้วย ถ้าค่อยๆดูดก้อไม่มึนหรอก) เพราะเกิดจากการที่ผู้สูบสูดก๊าซพิษคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป โดยต้นตอของก๊าซมาจากใบยาสูบที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของตัวยาบารากุ

แต่ก็มีหลายๆกระแสที่พูดกันว่าบารากุมีโทษต่อร่างกายหรือไม่กันแน่ เพราะมีบางกระแสบอกว่าตัวยาบารากุเป็นสมุนไพร รสผลไม้ต่างๆ ไม่อันตรายเหมือนบุหรี่ เพราะเชื่อว่าการสูบยาเส้นผ่านน้ำจะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น และตัวยาจะช่วยล้างสารพิษ และบำรุงกำลัง แต่อีกกระแสบอกว่าการดูดบารากุให้อันตรายมากกว่า เนื่องจากยาเส้นประเภทสูบผ่านน้ำอย่างบารากู่นั้น มีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป  เพราะมีสารนิโคติน และสารทาร์จำนวนมากกว่า


จากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลกเผยว่า การสูบบารากุ 1 ห่อ เท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวน อีกทั้งการสูบ ผ่านน้ำและการผสมกับผลไม้กลิ่นต่างๆ จะทำให้ความเข้มข้นของควันจางลง ทำให้ผู้สูบ สูบได้ลึกมากขึ้น และจำนวนมากขึ้น ซึ่งถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70เท่า เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมากการสูบบารากุ  ผู้สูบจะได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดแข็งตัว และโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ผู้สูบจะมีอาการปวดศีรษะ ตามองเห็นภาพไม่ชัด ใจสั่น เวียนศีรษะ และมีระดับโคเลสเตอรอลในกระแสเลือดมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไป อีกทั้งยังอาจกระตุ้นให้เกิดหลอดลมตีบตัวในผู้ป่วยโรคหอบหืด และเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังพบว่าทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติของทารกในครรภ์อีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้หลายประเทศทั้ง สกอตแลนด์ อังกฤษ อเมริกาและแคนาดา ห้ามการสูบในที่สาธารณะ ส่วนในประเทศไทยการสูบบารากู่ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีส่วนผสมของยาสูบหรือไม่

ถ้ามีจะเข้าข่ายพระราชบัญญัติควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีกฎหมายครอบคลุมห้ามจำหน่ายบุหรี่แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามจำหน่ายในลักษณะการแจก หรือแถมตัวอย่าง ฯลฯ และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่กฎหมายกำหนดห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับ 2,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่พบว่าบารากู่ที่นำเข้ามาขายในไทยทุกยี่ห้อมีส่วนผสมของยาสูบ!!

สรุปแล้ว บารากุมีอันตราย และอันตรายมากกว่าบุหรี่มากซะด้วย แถมถ้าสูบในที่สาธารณะอาจจะเสี่ยงโดนจับ ปรับ 2,000 อีกต่างหาก แล้วถ้าถามว่า คืนนี้ไปดูดบารากุที่ C•E•O™ Club กันมั๊ย คำตอบของผมคือ จะรอให้ถึงกลางคืนทำไมวะ เย็นนี้ก็ไปได้แล้ว :-P

0 ความคิดเห็น สำหรับ "บารากุ ความหอมหวลเปื้อนยาพิษจริงหรือ ?"

ร่วมแสดงความคิดเห็น

Daily Video

2010 BlogNews Magazine. All Rights Reserved. - Designed by SimplexDesign